ชิมช้อปใช้ คืออะไร อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ
ในภาวะที่บ้านเมืองมีเศรษฐกิจซบเซา รัฐบาลจะต้องมีนโยบายหรือ project ดีๆ ออกมาเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ กล่าวคือ ต้องทำให้มีการใช้จ่ายของประชาชน เงินในระบบจะได้มีการหมุนเวียน แล้วเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะดีขึ้น และหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลเลือกใช้ก็คือ โครงการ “ชิมช้อปใช้” นั่นเอง
ชิมช้อปใช้ คืออะไร
ชิมช้อปใช้ คือ ชื่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จัดสรรเงินงบประมาณให้ประชาชนไปใช้จ่าย “ชิม ช้อป หรือใช้” คนละ 1,000 บาท กำหนดไว้ 10 ล้านคน และจ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” กับร้านค้าหรือกิจการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ตามเงื่อนไขที่ทางโครงการระบุเอาไว้
วัตถุประสงค์
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
วิธีการเข้าร่วมโครงการ
- ให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ชิมช้อปใช้ วันละ 1 ล้านคนตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2562 เป็นต้นไปที่ www.ชิมช้อปใช้.co.th ซึ่งประชาชนต้องเป็นผู้ที่มีบัตรประชาชน สมาร์ทโฟน
- เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบว่าทำถูกกติกาคือ เลือกใช้เงินในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดเดียวกับที่ปรากฏในบัตรประชาชนแล้ว จะได้รับการยืนยันการลงทะเบียนสำเร็จ
- ต้องโหลดแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อยืนยันตัวตน และเริ่มใช้จ่ายครั้งแรกภายใน 14 วัน ไม่เช่นนั้นเงินในเป๋าตังจะถูกส่งกลับส่วนกลาง และใช้ได้ถึง 31 พ.ย.62
- การใช้เงินนั้น สามารถใช้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และใช้ในจังหวัดที่ตัวเองเลือกเท่านั้น จำนวนเงินที่ใช้ได้คือ 1,000 บาทที่ได้รับจากรัฐบาล และยังมีกระเป๋าที่ 2 ที่สามารถเติมเงินเข้าไปเอง โดยที่ส่วนนี้ทางโครงการจะคืนเงินให้ 15% ของการใช้จ่าย
ความคาดหวังที่จะได้รับ
ทางรัฐบาลเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ เพราะต้องมีการเดินทางไปในจังหวัดอื่น เพื่อใช้เงิน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ตั้งแต่ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหารการกิน นอกเหนือจากที่รัฐบาลให้ 1,000 บาท คือกระเป๋าที่ 2 นั่นเอง หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องจ่ายเงินสดเอง สิ่งเหล่านี้หากเป็นตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ ย่อมกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง
โครงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
จากพฤติกรรมที่สื่อออกมาผ่านข่าวสารนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ยังมีข้อบกพร่องในแนวคิดอยู่ เนื่องจาก
- ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ เลือกใช้จ่ายในจังหวัดที่ตัวเองอยู่แต่เป็นคนละจังหวัดกับที่ปรากฏในบัตรประชาชน จึงไม่เกิดการเดินทางออกนอกพื้นที่
- วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดการเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อจะใช้จ่ายเงินในส่วนอื่นค่อนข้างล้มเหลว เพราะเงื่อนไขบังคับใช้เงินครั้งแรกภายใน 14 วัน ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลือกจะซื้อของใช้จากห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อมากกว่า
อย่างไรก็ดี โครงการชิมช้อปใช้ เฟส 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีการป้องกันเรื่องเหล่านี้เอาไว้แน่นอน